โรคมือ เท้า ปาก รับมืออย่างไรดี?
โรคมือ เท้า ปาก หรือ Hand, Foot, and Mouth Disease (HFMD) คือโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส Human enteroviruses ผ่านการสัมผัสกับน้ำลาย น้ำมูก ตุ่มน้ำใส หรือผื่นบริเวณผิวหนังของผู้ที่เป็นโรค โรคมือเท้าปาก เป็นโรคที่พบได้บ่อยในเด็กทารก เด็กเล็ก หรือเด็กในวัยเรียนที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี จึงมักพบการระบาดในโรงเรียน หรือสถานรับเลี้ยงเด็ก โดยจะมีการระบาดอย่างมากในช่วงฤดูฝนที่มีอากาศเย็น และอากาศชื้น ทำให้เชื้อยิ่งแพร่กระจายได้รวดเร็ว และเป็นพาหะในการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นต่อไปได้อีกนานหลายสัปดาห์แม้ว่าผื่นจากโรคมือ เท้า ปาก จะหายไปแล้วก็ตาม อาการโรคมือ เท้า ปาก เป็นอย่างไร โรคมือ เท้า ปาก มีอาการเริ่มต้นโดยที่เด็ก ๆ เริ่มมีอาการไข้ เจ็บคอ ไม่อยากอาหาร และเริ่มงอแง โรคมือ เท้า ปาก ในเด็ก ช่วงหน้าฝน มีระยะฟักตัวอยู่ที่ 3-6 วันตามมาด้วยการมีไข้ 1-2 วัน และเริ่มปรากฎตุ่มน้ำใสด้านหน้าของปากและลําคอ มีผื่นแต่ไม่คัน และอาจมีตุ่มน้ำใส หรือตุ่มนูนเล็ก ๆ บนฝ่ามือ ฝ่าเท้า หรือผื่นบริเวณก้น ในบางรายอาจมีอาการทุกอาการดังที่กล่าวมา ในขณะที่บางรายอาจมีอาการเพียง 2-3 อาการ โดยปกติอาการของโรคมือเท้าปากมักไม่รุนแรง และสามารถหายได้เองภายใน 7-10 วัน เด็กที่ป่วยด้วยโรคมือ เท้า ปากบางรายอาจมีไข้สูงเฉียบพลัน และมีตุ่มน้ำใสที่ด้านหลังของปากและลําคอ ซึ่งอาจเป็นโรคเฮอร์แองจินา (Herpangina) ซึ่งเป็นโรคไวรัสในกลุ่มเดียวกันกับไวรัสโรคมือ เท้า ปากในเด็ก โดยเด็กบางรายอาจมีอาการชัก และมีตุ่มน้ำใสที่มือ เท้า หรือส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย ควรพบแพทย์เมื่อใด ควรไปพบแพทย์ทันทีหากเด็กอายุน้อยกว่า 6 เดือน หรือเมื่อเด็กไม่ยอมรับประทานน้ำหรืออาหารเพราะอาจทําให้ร่างกายขาดน้ำได้ หากมีอาการนานกว่า 10 วันควรปรึกษาแพทย์ รคมือ เท้า ปาก เกิดจากอะไร เชื้อ coxsackievirus 16 ซึ่งเป็นไวรัสชนิดหนึ่งในกลุ่ม nonpolio enteroviruses เป็นสาเหตุหลักของโรคมือเท้าปาก อย่างไรก็ตามไวรัส enterovirus ชนิดอื่นสามารถทำให้เกิดโรคได้เช่นกัน โรคมือเท้าปากติดต่อจากคนสู่คน ผ่านการสัมผัสกับน้ำลาย น้ำมูก ละอองฝอยจากการไอหรือจาม ของเหลวจากตุ่มพอง หรืออุจจาระของผู้ติดเชื้อ ปัจจัยเสี่ยง วัยเด็ก ทุกคนสามารถติดเชื้อโรคมือเท้าปากได้ แต่ส่วนใหญ่แล้วเด็กที่อายุน้อยกว่า 5-7 ปีมักได้รับผลกระทบจากโรคนี้ เนื่องจากโรคนี้ติดต่อได้ง่ายจากการสัมผัสผู้ป่วย เด็กในสถานรับเลี้ยงเด็ก ซึ่งมีความใกล้ชิดกันจึงติดเชื้อได้ง่าย ส่วนเด็กโตและผู้ใหญ่สามารถพัฒนาภูมิคุ้มกันโรคหลังได้รับเชื้อ ภาวะแทรกซ้อน อาการของโรคมือเท้าปากมักไม่รุนแรง หายได้เอง อย่างไรก็ตาม บางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ดังนี้ ภาวะขาดน้ำ เด็กที่ป่วยมักจะดื่มน้ำและรับประทานอาหารได้น้อยลงเนื่องจากแผลในปาก หากไม่รับประทานอะไรได้เลย แพทย์อาจแนะนําให้พักรักษาตัวในโรงพยาบาลเพื่อรับน้ำเกลือ เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากไวรัส หากเชื้อ enterovirus เข้าสู่สมองอาจทําให้เกิดเยื่อหุ้มสมองและน้ำไขสันหลังรอบสมองและไขสันหลังอักเสบได้ อย่างไรก็ตามอาการนี้มักพบได้น้อย โรคไข้สมองอักเสบ เป็นอาการอักเสบของสมองที่พบได้น้อย แต่รุนแรงและเป็นอันตรายถึงชีวิต การป้องกันโรคมือ เท้า ปาก ล้างมือด้วยสบู่ก่อนรับประทานอาหารหรือเตรียมอาหาร ทําความสะอาดมือให้สะอาดหลังการจาม ไอ เปลี่ยนผ้าอ้อมเด็ก หรือใช้ห้องน้ำ ทําความสะอาดของเล่นและพื้นผิวสัมผัสร่วมที่คนใช้บ่อย ๆ เช่น ลูกบิดประตู สอนวิธีการล้างมืออย่างถูกต้องให้กับเด็ก ๆ อธิบายและเตือนว่าไม่ควรเอานิ้ว ของเล่น หรือวัตถุอื่น ๆ เข้าปาก หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง งดไปสถานรับเลี้ยงเด็กหากลูกป่วย การตรวจวินิจฉัยโรคมือ เท้า ปาก แพทย์จะถามอายุของเด็ก และประเมินอาการ แผลในปากว่าเกิดจากโรคมือเท้าปากหรือการติดเชื้อไวรัสอื่น ๆ แพทย์อาจให้เก็บเชื้อที่คอหรืออุจจาระไปตรวจเพื่อตรวจสอบชนิดของไวรัส การรักษาโรคมือ เท้า ปาก ปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคมือเท้าปากโดยเฉพาะ โดยปกติโรคจะหายเองภายใน 7-10 วัน อย่างไรก็ตามสามารถบรรเทาความรุนแรงได้ด้วยการใช้ยาชาในช่องปากเฉพาะที่ ยา acetaminophen หรือ ibuprofen การดูแลรักษาตัวที่บ้าน เนื่องจากความเจ็บปวดที่เกิดจากตุ่มพองในปากและลําคออาจทำให้เด็กไม่อยากอาหาร คุณพ่อคุณแม่สามารถปฏิบัติตามคําแนะนําด้านล่างเพื่อกระตุ้นให้เด็ก ๆ รับประทานอาหารได้มากขึ้นและบรรเทาอาการเจ็บปวดภายในช่องปาก บ้วนปากด้วยน้ำเกลือเพื่อบรรเทาอาการอักเสบและความเจ็บปวด งดรับประทานผลไม้รสเปรี้ยว น้ำผลไม้ หรือโซดาเนื่องจากมีกรด ซึ่งอาจสร้างความระคายเคืองภายในช่องปาก ให้รับประทานของเย็น ๆ เช่น ไอติมแท่ง น้ำแข็ง ไอศกรีม และโยเกิร์ตเพื่อบรรเทาความเจ็บปวด จิบน้ำเย็น รับประทานอาหารอ่อน ๆ หากเคี้ยวไม่ไหว
โรคมือ เท้า ปาก รับมืออย่างไรดี?
แผลเล็ก เจ็บน้อย กลับบ้านเร็ว ด้วยการผ่าตัดส่องกล้อง หรือ Minimally Invasive Surgery (MIS)
การผ่าตัดส่องกล้อง หรือ Minimally Invasive Surgery (MIS) คืออะไร ผ่าตัดแบบส่องกล้อง เป็นการผ่าตัดโดยการเจาะผ่านช่องท้องและสอดอุปกรณ์ผ่าตัด มีกล้องขนาดเล็กเข้าไปเพื่อบันทึกภาพและส่งมายังจอรับซึ่งทำหน้าที่แทนตาของศัลยแพทย์ รวมไปถึงใส่อุปกรณ์แทนมือของศัลยแพทย์ หรือแขนกลของหุ่นยนต์ มีข้อดีคือ แพทย์มองเห็นรายละเอียดของตำแหน่งที่ต้องการผ่าตัดได้ชัดเจนด้วยกำลังขยายของกล้อง ทำให้ผ่าตัดได้ตรงจุดจึงลดการกระทบต่ออวัยวะอื่นๆ ทำให้การผ่าตัดสะดวกขึ้นไม่จำเป็นต้องเปิดแผลยาว เจ็บปวดหลังผ่าตัดน้อยกว่า เสียเลือดน้อยกว่า ฟื้นตัวใช้เวลาน้อยกว่า แต่มีข้อด้อยกว่าการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้องคือระยะเวลาผ่าตัดนานกว่า ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดสูงกว่า เนื่องจากต้องใช้อุปกรณ์พิเศษ ต้องอาศัยความชำนาญของทีมแพทย์ ทีมพยาบาลผู้ช่วยผ่าตัด ใครบ้างเหมาะกับการผ่าตัดแบบส่องกล้อง (MIS) ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถได้รับการผ่าตัดแบบส่องกล้อง ซึ่งเป็นตัวเลือกแรกที่ได้รับความนิยม แต่มีข้อจำกัด เช่น ถ้าเป็นโรคมะเร็งลำไส้ที่มีขนาดใหญ่หรือมีการลุกลามติดอวัยวะข้างเคียงมาก อาจไม่เหมาะในการผ่าตัดส่องกล้อง และไม่สามารถใช้วิธีนี้กับผู้ป่วยในบางราย เช่น ผู้ป่วยที่มีโรคปอดและหัวใจขั้นรุนแรง หรือผู้ที่เคยผ่าตัดและมีพังผืดในท้องมาก การผ่าตัดแบบส่องกล้อง เจ็บปวดหรือไม่ การผ่าตัดทั้งหมดทำให้มีความเจ็บปวด แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบการผ่าตัดแบบส่องกล้อง กับการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดแบบส่องกล้อง จะรู้สึกปวดทั้งในระยะสั้นและระยะยาวน้อยกว่ามาก เนื่องจากแผลที่ผ่าตัดมีขนาดเล็ก ระยะพักฟื้นนานแค่ไหน? แต่ละกรณีแตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น การผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบ ผู้ป่วยจะใช้เวลาฟื้นตัวสั้นมากและไม่เจ็บปวด แต่ถ้าโรคมะเร็งลำไส้ก็จะใช้เวลานานกว่า แต่ในเกือบทุกกรณี ระยะพักฟื้นและความเจ็บปวดสำหรับการผ่าตัดส่องกล้องนั้นน้อยกว่ามากเมื่อเทียบกับการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง อัตราความสำเร็จและภาวะแทรกซ้อนเป็นอย่างไร เมื่อเทียบกับผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง การผ่าตัดแบบส่องกล้องมีอัตราความสำเร็จสูงมากและมีความเสี่ยงต่ำที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อน อัตราการครองเตียงน้อยกว่า ลดการเกิดภาวะแทรกซ้อน และโรคแทรกซ้อนต่างๆ จากการนอนบนเตียงนานๆ เช่น การมีหลอดเลือดอุดตันที่ขา การติดเชื้อในทางเดินหายใจ เป็นต้น ทำให้ไม่ต้องชะลอเวลาก่อนที่จะเริ่มการรักษาด้วยเคมีบำบัดหรือการฉายรังสี ลดการเกิดพังผืดในช่องท้องจากการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง ที่สำคัญอัตราการรอดชีพเทียบเท่ากับการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง การผ่าตัดส่องกล้องที่ โรงพยาบาลมหาชัยพร้อมแพทย์ มีบริการดังนี้ ผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบผ่านกล้อง ผ่าตัดไส้เลื่อนขาหนีบผ่านกล้อง ผ่าตัดไส้เลื่อนหน้าท้องผ่านกล้อง ผ่าตัดมะเร็งลำไส้ใหญ่ผ่านกล้อง ผ่าตัดถุงน้ำดีผ่านกล้อง
แผลเล็ก เจ็บน้อย กลับบ้านเร็ว ด้วยการผ่าตัดส่องกล้อง หรือ Minimally Invasive Surgery (MIS)
มะเร็งเต้านม ภัยเงียบที่ต้องระวัง
• มะเร็งเต้านมเกิดเนื่องการแบ่งตัวผิดปกติของเซลล์ท่อน้ำนมหรือต่อมน้ำนมทำให้เกิดเป็นก้อนเนื้องอก โดยหากไม่ได้รับการรักษา มะเร็งจะโตขึ้นและกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ ก่อนที่จะกระจายไปอวัยวะอื่นๆ เช่น ปอด ตับ สมอง กระดูก จนเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยเสียชีวิต สำหรับประเทศไทยนั้นข้อมูลจาก Globocan ปี 2020 มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบบ่อยมากที่สุดในเพศหญิง (22.8%) ตามมาด้วยมะเร็งลำไส้ (10.7%) และมะเร็งปากมดลูก (9.4%) ตามลำดับ ปัจจัยเสี่ยง • เพศหญิง (มีโอกาสพบในเพศชายเพียง 1% ของมะเร็งเต้านมทั้งหมด) • อายุที่มากขึ้น (เริ่มพบได้บ่อยตั้งแต่อายุ 40-50 ปี) • ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่กินยาฮอร์โมนทดแทน • การมีประวัติญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่ เนื่องจากอาจสัมพันธ์กับมะเร็งเต้านมชนิดที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ซึ่งพบได้ อาการของมะเร็งเต้านม • คลำพบก้อนที่เต้านม (90%) • ความผิดปกติของหัวนม ได้แก่ มีการดึงรั้งจนหัวนมบุ๋มลง มีน้ำเหลือง/เลือดออกทางหัวนม • คลำพบต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้ (5-10%) ดังนั้นหากคลำพบก้อนที่เต้านมหรือรักแร้ แม้ว่าจะไม่มีอาการปวด ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรีบวินิจฉัยสาเหตุ ระยะของโรคมะเร็งเต้านม • ระยะที่ 1: ก้อนมะเร็งเต้านมขนาดไม่เกิน 2 cm และยังไม่มีการกระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ • ระยะที่ 2: ก้อนมะเร็งเต้านม 2-5 cm หรือมีการกระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ • ระยะที่ 3: ก้อนมะเร็งที่ลุกลามมาถึงผนังหน้าอก หรือมีการแตกเป็นแผล หรือมีการกระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ขนาดใหญ่ • ระยะที่ 4: มีการกระจายของมะเร็งออกไปนอกเต้านมและต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงแล้ว ได้แก่ การกระจายไป ปอด ตับ สมอง กระดูก การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม เนื่องจากมะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยในเพศหญิง และเป็นหนึ่งในมะเร็งไม่กี่ชนิดที่สามารถตรวจคลำได้ด้วยมือจากภายนอก ข้อมูลในปัจจุบันพบว่าการตรวจพบมะเร็งเต้านมตั้งแต่ระยะต้นสามารถเพิ่มโอกาสในการรักษาหายขาดได้ กล่าวคือหากได้รับการรักษาที่เหมาะสม โอกาสรอดชีวิตที่ 5 ปีของมะเร็งเต้านมระยะที่ 1 และ 2 สูงถึง 98% และ 88% ตามลำดับ ตามแนวทางของสถาบันมะเร็งแห่งชาติแนะนำให้ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม ดังนี้ 1. การตรวจเต้านมด้วยตัวเอง: ควรคลำเต้านมทุกเดือนตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป ช่วงเวลาที่เหมาะสมคือ หลังหมดประจำเดือน 2-3 วัน เนื่องจากจะคัดเต้านมน้อย 2. การตรวจเต้านมโดยแพทย์: แนะนำให้ตรวจปีละ 1 ครั้งในผู้ป่วยที่อายุ 40 ปีขึ้นไป 3. การถ่ายภาพเอ็กเรย์เต้านม (Mammography) เป็นการตรวจที่มีความไวมากกว่าการคลำ สามารถตรวจพบก้อนมะเร็งขนาดเล็กๆได้ อาจทำร่วมกับการตรวจอัลตร้าซาวด์ (ultrasonography) ในคนไข้ที่เนื้อเต้านมค่อนข้างแน่น แนะนำให้เริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 40 ปี โดยตรวจต่อเนื่องทุก 1-2 ปี หรือถี่กว่านั้นหากตรวจพบความผิดปกติ หมายเหตุ ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงมะเร็งเต้านม เช่น มีประวัติญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่ที่อายุน้อยกว่า 40 ปี ควรได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งเร็วขึ้น คือควรตรวจตั้งแต่อายุที่ญาติเป็นมะเร็งลบด้วย 5-10 ปี โดยเมื่อตรวจพบความผิดปกติจากการตรวจคัดกรอง แพทย์จะแนะนำให้ทำการตรวจชิ้นเนื้อเต้านมหรือต่อมน้ำเหลือง โดยใช้เข็มเจาะตัดเนื้อเยื่อ (core needle biopsy) หรือใช้เข็มเจาะดูดเซลล์ (Fine needle aspiration) เพื่อนำตัวอย่างเนื้อเยื่อหรือเซลล์ไปตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติมเพื่อหาชนิดของมะเร็งเต้านม ชนิดของมะเร็งเต้านม สามารถแบ่งมะเร็งเต้านมได้โดยใช้หลายเกณฑ์ เช่น ตามลักษณะทางพยาธิวิทยา หรือตามการแสดงออกของตัวรับที่ผิวของเซลล์มะเร็ง ซึ่งมีผลต่อการเลือกใช้ยารักษาที่แตกต่างกัน ในที่นี้จะกล่าวถึงการแบ่งชนิดตามเกณฑ์ของตัวรับที่ผิวเซลล์เป็นหลัก 1. ชนิดที่มีการสร้างตัวรับฮอร์โมนเอสโตรเจน: มักพบในผู้ป่วยสูงอายุ การตรวจพบตัวรับชนิดนี้ ทำให้การรักษาด้วยยาต้านฮอร์โมนเอสโตรเจนช่วยเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตได้ 2. ชนิดที่มีการสร้างตัวรับเฮอร์ทู (HER-2): สัมพันธ์กับมะเร็งที่ลุกลามไว การรักษาด้วยยามุ่งเป้าชนิดต้าน HER-2 สามารถเพิ่มอัตราการรอดชีวิตได้ 3. ชนิดที่ไม่มีการสร้างตัวรับใดๆ: การรักษาหลักยังเป็นการใช้ยาเคมีบำบัด การรักษามะเร็งเต้านม • การผ่าตัด แบ่งออกเป็น • การผ่าตัดเต้านมทั้งข้าง (Mastectomy) • การผ่าตัดเฉพาะก้อนมะเร็ง (Lumpectomy) ในผู้ป่วยมะเร็งระยะต้น • การผ่าตัดเต้านมหร้อมกับการสร้างเต้านมใหม่ • การฉายแสง • การรักษาด้วยยา ได้แก่ • ยาเคมีบำบัด • ยามุ่งเป้า • ยาต้านฮอร์โมน • ยาภูมิคุ้มกันบำบัด โดยแพทย์อาจใช้การรักษาอย่างใดอย่างหนึ่งหรือใช้การรักษาหลายๆอย่างร่วมกัน ขึ้นอยู่กับชนิดและระยะของโรค อายุและความแข็งแรงของผู้ป่วย เป็นต้น ปรึกษาเพิ่มเติม แผนกรังสีวินิจฉัย โทร 032-328-521 - 5 ต่อ 145 แผนกศัลยกรรม โทร 032-325-521 - 5 ต่อ 163 โรงพยาบาลมหาชัยพร้อมแพทย์ ราชบุรี
มะเร็งเต้านม ภัยเงียบที่ต้องระวัง
Shock wave กายภาพบำบัดด้วยคลื่นกระแทก
Shock wave กายภาพบำบัดด้วยคลื่นกระแทก ดีอย่างไร เหมาะกับใครบ้าง หลายคนคงประสบปัญหาอากาารปวดจากก้อนแข็งเกร็ง บริเวณต้นคอ บ่า ไหล่ และปวดส้นเท้าจากรองช้ำ ไปนวดแล้วก้อนแข็งนั้นก็ยังคงอยู่ ทำให้มีอาการปวดรบกวนอยู่เรื่อยๆ จากปัญหาก้อนกล้ามเนื้อนั้นเกิดจากการอักเสบเรื้อรังทำให้เกิดผังพืดที่หนาตัวขึ้น การรักษากายภาพบำบัดมีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงในการรักษาอาการเรื้อรังนี้ คือคลื่นกระแทก (Shock wave therapy) กายภาพบำบัดด้วยคลื่นกระแทก (Shock wave) เป็นการรักษาที่กระทำได้โดยแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดเท่านั้น สามารถใช้เครื่อมือนี้ช่วยในการรักษากลุ่มอาการออฟฟิคซินโดรม และอาการปวดเรื้อรังต่างๆ ได้เป็นอย่างดี การรักษาด้วย เครื่องช็อคเวฟ หรือคลื่นกระแทก (Shock wave) คืออะไร หลักการทำงานของเครื่องช็อคเวฟคือ คลื่นกระแทกเกิดจากแรงอัดอากาศปริมาณสูง โดยคลื่นจะเคลื่อนตัวด้วยความเร็วเหนือเสียงทำให้เกิดพลังกดอัดที่มีลักษณะเฉพาะ เข้าไปในบริเวณที่มีก้อนกล้ามเนื้อและผังพืดที่แข็งเกร็ง กระตุ้นให้กล้ามเนื้อและผังพืดเกิดการบาดเจ็บใหม่ (Re-injury) ในบริเวณนั้น ทำให้เซลล์กล้ามเนื้อและสารอาหารที่จำเป็นกับร่างกายเกิดกระบวนการซ่อมสร้างเนื้อเยื่อใหม่(Re-healing)ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบเซลล์จึงส่งผลทำให้ช่วยลดปวดได้ โดยการลดปริมาณสารสื่อประสาทที่ส่งสัญญาณปวดและกระตุ้นให้หลั่งสารลดปวดเร็วขึ้น จึงทำให้เห็นผลได้ทันทีหลังการรักษา อาการที่ควรได้รับการรักษาด้วยเครื่อง Shock wave - เส้นเอ็นอักเสบ เช่น เอ็นข้อศอกอักเสบ(Tennis elbow), เอ็นหัวไหล่อักเสบ(Shoulder tendinitis) เอ็นร้อยหวายอักเสบ เอ็นฝ่าเท้าอักเสบหรือรองช้ำ(Plantar fasciitis), ปลอกหุ้มเส้นเอ็นข้อมืออักเสบ(De-Quervain’s) เส้นเอ็นหัวไหล่อักเสบจากหินปูนเกาะ(Tendon calcification) - กล้ามเนื้ออักเสบเรื้อรัง เช่น ปวดคอเรื้อรัง ปวดบ่าเรื้อรัง ปวดหลังเรื้อรัง ออฟฟิศซินโดรม(Office syndrome) อาการปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืด( Myofascial pain syndrome) - อื่นๆ ได้แก่ พังผืดกดทับเส้นประสาทข้อมือ(Carpal tunnel syndrome) ข้อเสื่อมอักเสบ (Osteoarthritis), นิ้วล็อค(Trigger finger) ข้อไหล่ติดจากเยื่อหุ้มข้ออักเสบ(Capsulitis) ข้อดี จุดเด่น ของการรักษาด้วยคลื่นกระแทก Shock wave Shock wave จะส่งพลังงานผ่านชั้นผิวหนังลงไปถึงบริเวณเอ็นและกล้ามเนื้อได้ลึกประมาณ 3-4 เซนติเมตร เมื่อผ่านเข้าไปในเนื้อเยื่อส่งผลให้เกิดผลทางชีวภาพในเนื้อเยื่อ (Biological effects) ได้แก่ - กระตุ้นให้เกิดการสร้างหลอดเลือดใหม่ - กระตุ้นการซ่อมแซมเซลล์เนื้อเยื่อของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น - กระตุ้นการสร้างคอลลาเจน และยับยั้งกระบวนการอักเสบ ส่งผลให้ลดอาการปวดกล้ามเนื้อ และจุดกดเจ็บเกิดการผ่อนคลาย - กระตุ้นการไหลเวียนเลือด - ช่วยสลายหินปูนในเส้นเอ็น - เพิ่มและเร่งกระบวนการซ่อมแซมของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น โดยเกิดการกระตุ้นการอักเสบใหม่ในผู้ป่วยที่มีภาวะปวดเรื้อรัง ข้อห้าม ข้อควรระวังในการกายภาพด้วย Shock wave 1. ผู้ที่สงสัยว่ามีการตั้งครรภ์ 2. ไม่ควรใช้ในเด็ก 3. ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับโรคผิวหนัง 4. ผู้ป่วยที่ผิวหนังมีบาดแผล 5. ห้ามทำในผู้ป่วยที่ใส่ peacemaker 6. ห้ามใช้ในบริเวณที่มีเส้นเลือดขอดหรือเส้นเลือดอุดตัน 7. ผู้ที่มีภาวะลิ่มเลือดอุดตัน 8. ผู้ที่มีภาวะเลื่อดแข็งตัวช้า 9. ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อที่ผวหนัง 10. ห้ามทำบริเวณช่องท้องหรือทรวงอก ข้อควรระวัง - ไม่ควรใช้บริเวณกล้ามเนื้อที่เป็นตำแหน่งของปอด - หลีกเลี่ยงบริเวณกล้าเนื้อ คอ หลังใบหู ผลข้างเคียง ขณะที่ทำการรักษาจะมีอาการเจ็บ ตรงตำแหน่งที่มีการอักเสบ หรือ บาดเจ็บ เพื่อให้เกิดการรักษาตัวบริเวณนั้น แต่สามารถปรับพลังงานขณะยิงให้เหมาะสมได้ ให้อาการเจ็บอยู่ในระดับที่พอทนได้ หลังรักษาเสร็จอาจจะรู้สึก ล้า ระบม ได้ปกติหากระบมมากให้ประคบเย็นบริเวณนั้น 15-20 นาที ติดต่อกัน 1-2 วัน หลังจากนั้นอาการปวดจะลดลงและได้เซลล์กล้ามเนื้อใหม่ที่สมบูรณ์ขึ้น ข้อสรุป การทำ Shock wave ช่วยรักษาอาการได้หลายอาการ และควรจะปรึกษานักกายภาพที่เชี่ยวชาญก่อนทำทุกครั้ง ใครกำลังจะเลือกทำกายภาพบําบัดรักษาออฟฟิศซินโดรม ปวดคอ บ่าไหล่ น้องสรีขอเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกดีๆที่พร้อมช่วยดูแลรักษาคุณอย่างตรงจุด โดยนักกายภาพบำบัดผู้เชี่ยวชาญ เพื่อคืนอิสระให้ทุกความเคลื่อนไหว หากสนใจสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดอื่นๆเพิ่มเติมได้ที่ โรงพยาบาลมหาชัยพร้อมแพทย์ โทร: 032-328521 - 5
Shock wave กายภาพบำบัดด้วยคลื่นกระแทก
พรบ. คืออะไร มีไว้เพื่อต่อภาษีประจำปีเท่านั้น ! หรือ ?
พรบ. คืออะไร ? มาดูคำตอบให้หายข้องใจกันเลย "พรบ." คือ การประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ (พรบ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ) ซึ่งกฏหมายบังคับให้รถทุกคันต้องทำประกัน ภายใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พศ. 2535 ที่กฎหมายกำหนดให้ยานพาหนะทางบกทุกประเภทที่จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกต้องทำประกันภัยประเภทนี้ โดยให้ความคุ้มครองเฉพาะ ความเสียต่อชีวิต และรวมร่างกายของบุคคลภายนอก ซึ่งเป็นผู้ประสบอุบัติเหตุจากรถทุกชนิด โดยไม่คำนึงถึงว่าบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากอุบัติเหตุเหล่านั้นจะเป็นผู้ที่กระทำความผิดหรือไม่ ซึ่งกฎหมายจะให้ความคุ้มครองต่อตัวคู่กรณีและผู้เอาประกันเมื่อเกิดอุบัติเหตุจากรถเท่านั้น ! ตามวงเงินความคุ้มครองที่ระบุในหน้าตรางกรมธรรม์ของรถยนต์ชนิดนั้นๆ ในรูปแบบของเงินชดเชยและค่ารักษาพยาบาลตามที่กฎหมายกำหนด ถ้าไม่ซื้อ พรบ. จะได้ไหม ? ตอบเลย...ไม่ได้ ! เพราะต้องใช้ส่วนท้ายของ พรบ. ประกอบการต่อทะเบียนรถ หรือ การต่อภาษีรถประจำปี ตามที่กฏหมายบังคับให้รถทุกคันต้องทำ โดยสามารถต่อก่อนล่วงหน้าได้ไม่เกิน 3 เดือน หากรถของเราไม่มี พรบ. มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท (เรียกว่า พรบ.-ใช้แสดงเมื่อต่อภาษีรถประจำปี) พรบ. คุ้มครองอะไรเราบ้าง ? พรบ. ให้ความคุ้มครองความเสียหายที่เกิดขึ้นกับบุคคลเท่านั้น ! พูดง่ายๆ คือ คุ้มครอง "คน" ไม่คุ้มครอง "รถ" นั่นเอง ความคุ้มครองเบื้องต้นตาม พ.ร.บ. ดังนี้ -ค่ารักษาพยาบาลกรณีบาดเจ็บและเป็นค่าปลงศพในกรณีเสียชีวิต โดยไม่ต้องรอพิสูจน์ความผิด บริษัทจะชดใช้ ให้แก่ผู้ประสบภัย/ทายาทโดยธรรมของผู้ประสบภัย ภายใน 7 วัน นับแต่บริษัทได้รับคำร้องขอค่าเสียหายดังกล่าวเรียกว่า “ค่าเสียหายเบื้องต้น” วงเงินคุ้มครอง ค่าเสียหายเบื้องต้น ดังนี้ -กรณีบาดเจ็บ ไม่เกิน 30,000 บาทต่อหนึ่งคน -กรณีทุพพลภาพ (อย่างหนึ่งอย่างใด) จำนวน 35,000 บาทต่อหนึ่งคน -กรณีบาดเจ็บ จะได้รับการชดใช้ค่ารักษาพยาบาลตาม ข้อ 1. และต่อมาทุพพลภาพตาม ข้อ 2. รวมกันแล้วจะไม่เกิน 65,000 บาทต่อหนึ่งคน -กรณีเสียชีวิต จำนวน 35,000 บาทต่อหนึ่งคน -กรณีเสียชีวิตภายหลังการรักษาพยาบาลและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริงตามข้อ 1 รวมกันไม่เกิน 65,000 บาทต่อหนึ่งคน วงเงินคุ้มครอง ค่าสินไหมทดแทน (ส่วนเกินค่าเสียหายเบื้องต้น) ดังนี้ -กรณีบาดเจ็บ แต่ไม่ถึงกับสูญเสียอวัยวะหรือทุพพลภาพอย่างถาวร ไม่เกิน 80,000 บาท ต่อหนึ่งคน -กรณีสุญเสียอวัยวะ 200,000-300,000 ต่อหนึ่งคน -กรณีเสียชีวิต / ทุพพลภาพถาวร 300,000 บาท ต่อหนึ่งคน -ค่าชดเชย (ผู้ป่วยใน) รายวัน วันละ 200 บาท จำนวนรวมกันไม่เกิน 20 วัน เป็นค่าเสียหายที่เพิ่มขึ้น นอกเหนือจากความคุ้มครองที่กล่าวมาแล้ว กรณีรถตั้งแต่ 2 คัน ขึ้นไปก่อให้เกิดความเสียหาย ต้องทำอย่างไร ? -กรณีรถตั้งแต่ 2 คันขึ้นไปก่อให้เกิดความเสียหาย (เฉี่ยวชนกัน) เป็นเหตุให้ผู้ซึ่งอยู่ในรถไม่ว่าจะเป็นผู้ขับขี่หรือผู้โดยสารก็ตาม หากได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ให้บริษัทที่รับประกันภัยรถแต่ละคันจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้ประสบภัยซึ่งอยู่ในรถคันที่บริษัทรับประกันภัยไว้ แต่ถ้าผู้ประสบภัยเป็นบุคคลภายนอกไม่ได้อยู่ในรถคันใดคันหนึ่ง ให้บริษัทร่วมกันจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้ประสบภัยโดยเฉลี่ยจ่ายในอัตราส่วนที่เท่ากัน ระยะเวลาในการขอรับสิทธิ ฯ ผู้ประสบภัยต้องร้องขอรับค่าเสียหายเบื้องต้น ภายใน 180 วันนับแต่วันที่มีความเสียหายเกิดขึ้น วิธีการเคลม พร้อมหลักฐานดังนี้ -กรณีบาดเจ็บ 1.1 ใบเสร็จรับเงินจากโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาล หรือหลักฐานการแจ้งหนี้เกี่ยวกับการรักษาพยาบาล 1.2 สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือสำเนาใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว หรือสำเนาหนังสือเดินทาง หรือหลักฐานอื่นใดที่ทางราชการเป็นผู้ออกให ้ที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าผู้ที่มีชื่อในหลักฐานนั้นเป็นผู้ประสบภัย -กรณีทุพพลภาพ นอกจากต้องยื่นหลักฐานตาม ข้อ 1.1 และ 1.2 แล้ว ให้ยื่นใบรับรองแพทย์ หรือความเห็นแพทย์ หรือหลักฐานอื่นใดที่ระบุว่าเป็นผู้ประสบภัยซึ่งทุพพลภาพ พร้อมทั้งสำเนาบันทึกประจำวันของพนักงานสอบสวน หรือหลักฐานอื่นที่แสดงว่าผู้นั้นได้รับความเสียหายจากการประสบภัยจากรถเพิ่มเติมด้วย -กรณีเสียชีวิต 2.1 สำเนามรณบัตร 2.2 สำเนาบันทึกประจำวันของพนักงานสอบสวน 2.3 สำเนาบัตรประจำตัว หรือสำเนาใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว หรือสำเนาหนังสือเดินทาง หรือหลักฐานอื่นใดที่ทางราชการเป็นผู้ออกให้ที่สามารถพิสูจน์ได้ว่า ผู้ที่มีชื่อในหลักฐานนั้นเป็นผู้ประสบภัย ***กองทุนทดแทนผู้ประสบภัย จะไม่รับผิดชอบ 1. รถคันที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ประสบภัยมิได้จัดทำประกันภัยตามที่กฎหมายกำหนดไว้ และเจ้าของรถไม่จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้น (กรณีบาดเจ็บเท่าที่รักษาจริงจะไม่เกิน 30,000 บาท หากเสียชีวิต 35,000 บาท ) 2. รถคันที่ก่อให้เกิดความเสียหายมิได้อยู่ในความครอบครองของเจ้าของรถในขณะเกิดเหตุ เพราะถูกยักยอก ฉ้อโกง กรรโชก ลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ หรือปล้นทรัพย์ และได้มีการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนไว้แล้ว 3. รถนั้นไม่มีผู้แสดงตนเป็นเจ้าของรถและมิได้จัดให้มีการประกันความเสียหายตามที่กฎหมายกำหนดไว้ 4. รถนั้นมีผู้ขับหลบหนีไปหรือไม่อาจทราบได้ว่าความเสียหายเกิดจากรถคันใด 5. บริษัทไม่จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้ประสบภัยหรือจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้ประสบภัยไม่ครบจำนวน 6. รถคันที่ก่อให้เกิดความเสียหายเป็นรถที่ได้รับการยกเว้นตามกฎหมาย ถ้ารถไม่ทำประกันภัยไปก่อให้เกิดความเสียหายกับผู้ประสบภัย กฎหมายกำหนดให้เจ้าของรถมีหน้าที่ต้องทำประกันภัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พศ. 2535 เมื่อเจ้าของรถฝ่าฝืนไม่ทำประกันภัยแล้วรถคันดังกล่าวไปก่อให้เกิดความเสียหายกับผู้ประสบภัย เจ้าของรถจึงมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายนั้น -ถ้าผู้ประสบภัยได้รับบาดเจ็บเจ้าของรถต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลหรือถ้าเสียชีวิตต้องรับผิดชอบค่าปลงศพ อย่างน้อยต้องไม่ต่ำกว่าจำนวนที่กฎหมายกำหนดไว้ (กรณีบาดเจ็บเท่าที่รักษาจริงจะไม่เกิน 30,000 บาท หากเสียชีวิต 35,000 บาท ) หากน้อยกว่านี้ผู้ประสบภัยหรือทายาทโดยธรรมของผู้ประสบภัยยังคงมาขอรับส่วนที่ยังขาดอยู่ได้จากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย เมื่อกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยจ่ายไปแล้ว กฎหมายกำหนดให้นายทะเบียนตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พศ. 2535 มีหน้าที่เรียกเงินตามจำนวนที่ได้จ่ายไปคืนจากเจ้าของรถรวมทั้งเงินเพิ่มในอัตราร้อยละยี่สิบของจำนวนค่าเสียหายเบื้องต้นที่จ่ายจากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยเพื่อเข้าสมทบอีกต่างหากภายใน 7 วันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่งจากนายทะเบียน ***รู้ทั้งคุณและโทษแล้ว อย่าลืม ! รถทุกคันต้องทำ พรบ. นะครับ*** กรณีติดต่อฉุกเฉิน โทร: 065-541-7995 แผนกห้องฉุกเฉิน โรงพยาบาลมหาชัยพร้อมแพทย์ ที่มาบทความ/รายละเอียดเพิ่มเติมที่ คปภ. https://www.oic.or.th
พรบ. คืออะไร มีไว้เพื่อต่อภาษีประจำปีเท่านั้น ! หรือ ?
โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
มะเร็งลำไส้ใหญ่ ถือเป็นภัยเงียบที่ไม่แสดงอาการ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัยทำงาน โดยอาการเตือนที่มักปรากฏให้เห็นของผู้ป่วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เช่น อุจจาระมีเลือดปน น้ำหนักลด ลำไส้อักเสบเรื้อรัง เป็นต้น ผู้ป่วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ สามารถพบได้ในอายุ 50 ปีขึ้นไป โดยส่วนมากมักมีอายุระหว่าง 60-65 ปี ซึ่งกว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่จะทราบว่าตนเองป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ก็มักพบในระยะที่เป็นมากแล้ว ซึ่งทำให้มีโอกาสเสี่ยงเสียชีวิตสูง ดังนั้น การตรวจคัดกรองเพื่อป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือมาพบแพทย์ทันทีที่เริ่มมีอาการผิดปกติเป็นการป้องกันที่ดีที่สุด ปัจจัยเสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่แน่ชัด แต่พบว่าอาจมีปัจจัยมาจากอาหารและสิ่งแวดล้อม โดยการรับประทานอาหารที่ให้พลังงาน ไขมันและน้ำตาลสูง ผู้ที่มีดัชนีมวลกายเกินมาตรฐาน หรือโรคอ้วน เป็นปัจจัยสำคัญต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ นอกจากนี้ยังพบปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ได้แก่ ผู้ที่มีอายุเกิน 50 ปี มีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่มากกว่า 2 คนขึ้นไป เคยมีติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ เคยเป็นโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง และการสูบบุหรี่ อาการ มะเร็งลำไส้ใหญ่ หากคุณมีอาการเหล่านี้ คุณอาจกำลังเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่สังเกตอาการของตัวเองด่วน หากมีอาการ… • ท้องอืดเรื้อรัง ท้องอืดไม่ทราบสาเหตุ • ท้องผูกสลับท้องเสีย • อุจจาระมีเลือดเจือปน • รู้สึกถ่ายไม่สุด • น้ำหนักลดผิดปกติ อ่อนเพลีย • คลำเจอก้อนในท้อง • มีอาการโลหิตจาง โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นโรคที่เกิดขึ้นได้กับทุกวัยโดยเฉพาะคนวัยทำงาน ดังนั้น เราสามารถหลีกเลี่ยงการเกิดโรคนี้ได้โดยการปรับพฤติกรรมของตนเอง • งดอาหารไขมันสูง อาหารปิ้งย่าง • รับประทานอาหารที่มีกากใยมากๆ • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ • ตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ด้วยการส่องกล้อง • ตรวจสุขภาพประจำปี • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ • ไม่ควรอั้นอุจจาระ เมื่อปวดควรขับถ่ายทันที ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร : 032-328-521 - 5
โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
โรคอ้วนในเด็ก
โรคอ้วน คือภาวะที่ร่างกายมีไขมันสะสมเกินปกติจนทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ ก่อให้เกิดปัญหาทั้งทางร่างกาย จิตใจ และสังคม ที่ส่งผลกระทบต่อทั้งเด็กและครอบครัว สาเหตุ • ปัจจัยด้านพันธุกรรม เช่น บิดามารดาอ้วน มารดาเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ทารกแรกเกิดน้ำหนักตัวมาก โรคต่อมไร้ท่อ โรคทางพันธุกรรม • พฤติกรรมการบริโภคอาหารที่มีไขมัน แป้ง และน้ำตาลสูง • พฤติกรรมการเคลื่อนไหวร่างกายน้อย ไม่ค่อยออกกำลังกาย การวินิจฉัย • การวัดน้ำหนักตามเกณฑ์ส่วนสูง แบ่งตามอายุและเพศ มีค่าสูงมากกว่า 3 เท่าของค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน • การวัดดัชนีมวลกาย (น้ำหนักเทียบกับส่วนสูง) มีค่ามากกว่า 2 เท่าของค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ภาวะแทรกซ้อนของโรคอ้วนในเด็ก • ระบบหายใจ เช่น ภาวะทางเดินหายใจอุดกั้น นอนกรน โรคภูมิแพ้ • ระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง • ระบบต่อมไร้ท่อ เช่น โรคเบาหวาน กลุ่มอาการเมตาบอลิก และเสี่ยงต่อการเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย • ระบบทางเดินอาหารและตับ เช่น ภาวะกรดไหลย้อน ภาวะไขมันสะสมในตับ โรคนิ่วในถุงน้ำดี • ระบบกล้ามเนื้อและกระดูก เช่น ขาโก่ง โรคกระดูกหัวสะโพกเลื่อน กระดูกหักง่าย • ความผิดปกติของผิวหนัง เช่น มีผื่นสีน้ำตาลหนาบริเวณคอ ข้อพับ รักแร้ ขาหนีบ รอยแตกที่หน้าท้อง ผื่นแดงบริเวณข้อพับที่เกิดจากการเสียดสี • สภาพจิตใจ เช่น ภาวะถูกล้อเลียน ซึมเศร้า ขาดความเชื่อมั่น แยกตัวจากสังคม การรักษา • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีพลังงานสูงเช่น แป้ง น้ำตาล ไขมัน ส่งเสริมการรับประทานอาหารที่มีกากใยสูง • ส่งเสริมกิจกรรมที่ทำให้เด็กได้มีการเคลื่อนไหวและออกกำลังกาย • ตรวจวินิจฉัยและรักษาภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นในเด็กที่เป็นโรคอ้วน ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โรงพยาบาลมหาชัยพร้อมแพทย์ ราชบุรี โทร : 032-328-521 - 5
โรคอ้วนในเด็ก
ภาวะกรดยูริคในเลือดสูงและเกาต์
จากการศึกษาติดตามผู้ที่มีภาวะกรดยูริคในเลือดสูงเป็นเวลา 15 ปี พบว่าประมาณครึ่งหนึ่งมีอาการของเกาต์ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ภาวะกรดยูริคในเลือดสูงเพียงอย่างเดียวจึงไม่ได้เท่ากับการวินิจฉัยว่าเป็นเกาต์ โดยทั่วไปภาวะกรดยูริคในเลือดสูงโดยไม่มีอาการมักไม่ต้องรับประทานยา แต่ควรหาสาเหตุและแก้ไขสาเหตุร่วมกับปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ในกรณีที่มีข้อบ่งชี้ในการรับประทานยาเพื่อลดกรดยูริคในเลือด ยาที่มักจะใช้เป็นอันดับแรกคือ Allopurinol ซึ่งมีโอกาสแพ้ได้สูงในคนไทย (ประมาณ 1 ใน 7 คน) ในผู้ป่วยที่จำเป็นต้องรับประทานยาดังกล่าวแนะนำให้ตรวจหาการแพ้ยาก่อนเริ่มยา สามารถสอบถามและตรวจได้ที่โรงพยาบาลมหาชัยพร้อมแพทย์ ราชบุรี
ภาวะกรดยูริคในเลือดสูงและเกาต์
ภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย
ภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย คือ ภาวะที่เด็กมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายจากวัยเด็กสู่วัยผู้ใหญ่เร็วกว่าปกติ มีผลทำให้ตัวสูงเร็วกว่าเพื่อนในช่วงแรกแต่จะหยุดสูงเร็วและเป็นผู้ใหญ่ตัวเตี้ยในที่สุด นอกจากนี้ยังมีผลทางจิตใจพฤติกรรมอารมณ์และเสี่ยงต่อการถูกล่วงละเมิดทางเพศ ภาวะนี้พบในเด็กหญิงมากว่าเด็กชาย 10 เท่า โดยเพศหญิง 90 % มักไม่มีสาเหตุแต่สัมพันธ์กับน้ำหนักตัวที่มาก ส่วนน้อยที่เกิดจากพยาธิสภาพในสมองหรือเนื้องอกรังไข่ ในเพศชายพบว่าส่วนใหญ่มีสาเหตุจากพยาธิสภาพในสมองหรือต่อมหมวกไตหรือเนื้องอกที่หลั่งฮอร์โมนเพศ และอีกสาเหตุคือการได้รับฮอร์โมนเพศปนเปื้อนจากสิ่งแวดล้อมทั้งในเด็กหญิงและเด็กชาย ลักษณะเบื้องต้นของเด็กที่มีภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย • เด็กหญิง มีเต้านมขึ้นก่อนอายุ 8 ปี หรือมีประจำเดือนก่อนอายุ 9 ปีครึ่ง • เด็กชาย มีอัณฑะขนาดใหญ่ขึ้นก่อนอายุ 9 ปี • มีขนขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ รักแร้ มีสิว มีกลิ่นตัว เพศชายมีเสียงแตกร่วมด้วย • มีส่วนสูงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ขั้นตอนการวินิจฉัย • เอ็กซเรย์ดูอายุของกระดูก • ตรวจเลือดวัดระดับฮอร์โมนในร่างกาย • การตรวจอัลตราซาวด์สำหรับเด็กหญิงเพื่อวัดขนาดและดูลักษณะมดลูกและรังไข่ • การตรวจคลื่นสนามแม่เหล็ก MRI เพื่อหาความผิดปกติในสมอง การรักษา • ถ้ามีสาเหตุ รักษาตามสาเหตุ • ถ้าไม่มีสาเหตุ แพทย์อาจพิจารณาให้การรักษาโดยใช้ยาฉีดยับยั้งการหลั่งฮอร์โมนเพศ เพื่อยับยั้งการเข้าสู่วัยรุ่น ชะลอความล้ำหน้าของอายุกระดูก เพื่อให้มีการเจริญเติบโตตามวัย ผู้ปกครองควรหมั่นสังเกตการเจริญเติบโต และความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของบุตรหลานอย่างใกล้ชิด หากพบความผิดปกติควรรีบพบกุมารแพทย์ เพื่อรับการตรวจรักษาและแก้ไขได้ทันท่วงที เพื่อให้บุตรหลานเติบโตได้อย่างปกติสุขเหมาะสมกับวัย ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โรงพยาบาลมหาชัยพร้อมแพทย์ ราชบุรี โทร : 032-328-521 - 5
ภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย
โรงพยาบาลมหาชัยพร้อมแพทย์
77/4 ถนนคฑาธร ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี 70000
77/4 ถนนคฑาธร ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี 70000
นโยบายการใช้คุกกี้
นโยบายความเป็นส่วนตัว
นโยบายกล้องวงจรปิด (CCTV)
นโยบายการใช้คุกกี้
นโยบายความเป็นส่วนตัว
นโยบายกล้องวงจรปิด (CCTV)
หมายเหตุ เจ้าหน้าที่จะติดต่อกลับท่าน ภายใน 48 ชั่วโมง.